top of page
ค้นหา

โทนสีกับงานปักภูคราม

อัปเดตเมื่อ 14 เม.ย. 2565


ผลงานการปักและออกแบบของพี่พรรณ


สีเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำงานศิลปะ เนื่องจากการใช้สีนั้นเป็นเรื่องของความละเอียดอ่อนด้านอารมณ์และการสื่อสาร เช่น สีโทนร้อน ให้ความรู้สึกอบอุ่น สีโทนเย็นให้ความรู้สึกสบายตา ความเข้มอ่อนของสีที่ใช้ในงานศิลปะแต่ละชิ้นงานก็สามารถสื่อสารถึงอารมณ์ความรู้สึกของศิลปินแต่ละท่านได้เช่นกัน


ในส่วนของภูคราม เราทุกคนที่นี่ต่างเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ช่างปักแต่ละคนจะปักงานตามปัจจัยและแรงบันดาลใจที่แตกต่าง เกิดเป็นความงามที่ทุกคนพร้อมใจกันสร้างสรรค์ขึ้นมา หลายคนที่ได้ติดตามงานของภูครามมาสักระยะ คงสังเกตเห็นโทนสีฝ้ายปักที่ภูครามเลือกใช้ในการเล่าเรื่องผ่านผืนผ้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของหมู่ดอกไม้หรือวิถีชีวิต จุดสำคัญคือสีที่เน้นความเป็นธรรมชาติเป็นหลัก ผลงานแต่ละชิ้นจะมีแรงบันดาลใจและปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อการใช้สีฝ้ายปักของช่างแต่ละคน เช่น สีของผ้าพื้น การคุมโทนสีฝ้ายปักของแต่ละคอลเลคชั่น หรือแม้กระทั่งการเลือกใช้สีฝ้ายปักที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด ประเด็นเหล่านี้เองที่ทำให้ผู้เขียนอยากจะเล่าเรื่องการใช้สีฝ้ายปักของช่างปักภูครามที่เป็นที่สะดุดตามาจนถึงทุกวันนี้

“น่ารักจัง”


ป้าบิดาผู้พัฒนาฝ้ายปักภูคราม


คำนิยามสั้นๆ ที่ผู้เขียนขอมอบให้ภูครามหลังจากที่ได้ชมผลงานของภูครามครั้งแรก หลังจากนั้นเมื่อได้มีโอกาสเข้ามาทำงานกับภูครามเกือบสองปีจึงได้รู้ว่าไม่แปลกที่ลูกค้าหรือคนที่ติดตามภูครามจะหลงเสน่ห์ความน่ารักของสีฝ้ายปักหรือลายปักที่น่าหลงใหล ภูครามทำฝ้ายปักเองและกระบวนการทำฝ้ายปักของภูครามต้องใช้ความเพียรและการเรียนที่ไม่รู้จบ “ป้าบิดา ไทยสรวง” คือคนที่ทุ่มเทเวลาทั้งหมดในการลองผิดลองถูก พัฒนาฝ้ายปักให้ชาวภูคราม ซึ่งใช้เวลากว่า 5 ปีจึงจะได้ฝ้ายปักที่แข็งแรง สีไม่ตก และเป็นโทนสีที่มีเพียงภูครามเท่านั้นที่ทำใช้กัน


ป้าบิดา ไทยสรวง ช่างย้อมฝ้ายปักภูคราม

ช่วงแรกผู้เขียนเกิดข้อสงสัยว่าทำไมภูครามไม่มีสีม่วง ไม่มีสีแดงสด คำตอบที่ได้กลับมาจากป้าบิดาคือ “ป้าลองทำมาทุกสีแล้ว และไม่ใช่ว่าเราจะย้อมได้ทุกสีที่เราอยากให้เป็น ภูครามเราเน้นสีที่แข็งแรง ติดทนนานและไม่ตกใส่สีฝ้ายอื่นๆ ป้าลองมาทุกสีจนรู้สึกว่า เอาแค่โทนที่เห็นทุกวันนี้เป็นหลักพอ อยากได้เข้มก็เพิ่ม อยากได้อ่อนก็ลด เพราะป้าทำคนเดียว ทำเยอะไม่ได้ เดี๋ยวจะไม่ไหวเอา” หลักการที่ฟังเหมือนง่าย แต่ต้องใช้เวลากว่า 5 ปี กว่าที่ป้าบิดาจะเข้าใจสมดุลของการย้อมสีที่เรียนรู้ผ่านกระบวนการลงมือทำอย่างจริงจัง

ความสำคัญของสีผ้าพื้นนั้นมีไม่น้อยไปกว่าการปักลวดลายหรือการใช้สีฝ้ายปัก เพราะผ้าพื้นเองก็เป็นตัวแปรสำคัญในเรื่องของทิศทางการใช้สีฝ้ายปักเช่นกัน โทนสีผ้าพื้นที่ภูครามทำส่วนใหญ่จะมีสามสีหลักๆ คือ สีคราม มะเกลือ และสีขาว นานๆ ทีจะมีสีฟ้าและสีเปลือกไม้ออกมาให้เห็น เนื่องจากต้องดูแลเรื่องคุณภาพเป็นพิเศษ


เริ่มต้นการออกแบบ


เราได้พูดคุยไปแล้วเรื่องการทำฝ้ายปักของภูครามในบทความ “เจนแม่มดแห่งภูคราม” ครั้งนี้เราจะเล่าถึงช่างปักที่ต้องนำฝ้ายปักที่มีสีสันหลากหลายจากการเล่นแร่แปรธาตุของช่างย้อมไปใช้ ปกติสีสันของฝ้ายปักจะขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ วัตถุดิบที่ใช้ และอารมณ์ของช่างย้อม ซึ่งไม่มีความแน่นอนหรืออะไรที่ตายตัว “ไม่ว่าฝ้ายปักจะมีแบบไหนช่างปักก็ต้องทำงานให้ได้” เป็นโจทย์ที่ทุกคนจะตื่นเต้นทุกครั้งที่เห็นสีฝ้ายที่ย้อมมาใหม่ บรรดาช่างปักจะได้รับโจทย์จากพี่เหมี่ยว หากเป็นงานใหม่ๆ พี่เหมี่ยวจะเป็นคนวางคอนเซ็ปรวม ว่าคอลเลคชั่นนี้เราจะสื่อสารอะไร และพิจารณาความถนัดของช่างปักแต่ละคนว่าเหมาะกับการสื่อสารแบบไหนร่วมกับพี่ไข่ดาว บางคนถนัดการเล่าเรื่องราววิถีชีวิต ช่างบางคนถนัดการเล่าเรื่องต้นไม้ดอกไม้ ส่วนใหญ่ถ้าเป็นลายปักและทรงเสื้อที่คุ้นเคยก็จะค่อนข้างปล่อยอิสระ โดยพี่เหมี่ยวจะบอกเพียงคอลเซ็ปต์ของงานนั้นๆ ส่วนรายละเอียดและฝีเข็มนั้นขึ้นอยู่กับการเล่าเรื่องของแต่ละคน แต่หากเป็นงานพิเศษหรือบางคอลเลคชั่นก็จะมีการคุยรายละเอียดและจับโทนสีจริงจังมากกว่าปกติ


ออกแบบและคิดลายร่วมกัน พี่เหมี่ยวและพี่ไข่ดาว

การจัดกลุ่มสีฝ้ายปัก


ครั้งนี้เราจะมาคุยกับเหล่าช่างปักผู้ที่มีพัฒนาการด้านฝีมือไม่ว่าจะเป็นการปัก และการใช้สีฝ้ายปัก ปกติภูครามจะมีพี่ไข่ดาวทำหน้าที่เสมือนด่านศุลกากรประจำภูคราม ทุกชิ้นงานจากช่างทุกคนจะต้องผ่านสายตาและการตรวจสอบจากพี่ไข่ดาวก่อน


ไข่ดาวผู้ส่งต่องาน


“การจัดกลุ่มสีฝ้ายให้ช่างปัก เริ่มจากการลองผิดลองถูก แรกๆ พี่ก็ไปไม่เป็นเหมือนกันนะ ไม่รู้จักโทนสี บางชิ้นงานได้อารมณ์ความสดใส ปะปนกัน หลังๆ พี่เริ่มสังเกตการใช้สี เริ่มมาจัดเฉดสีให้ช่างปักลองดู แต่การปักขึ้นอยู่กับช่างด้วยนะว่าเขาจะจัดโทนสีในการปักแบบไหน เรื่องลายปักกับการจัดวางสีก็สำคัญ อีกอย่างหนึ่งคือ พี่จะประเมินจากการขายออนไลน์แต่ละครั้งด้วย ว่าเสื้อตัวไหน ผลงานชิ้นไหนลูกค้าคอมเม้นต์เยอะ แปลว่าการใช้สีแบบนี้ วางลายแบบนี้คนชอบเยอะ ทั้งนี้ทั้งนั้นการคุมโทนสี จะขึ้นอยู่กับพี่และพี่เหมี่ยวด้วย เราจะทดลองกันดูว่าอันไหนสวยมาก สวยน้อย แต่สิ่งที่พี่ชอบก็คือ สีภูครามไม่มีสีโดด ทุกสีสามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างลงตัว”

เอกลักษณ์ของช่างปัก บางทีก็สังเกตได้จากการใช้สี ผลงานของคนที่พี่ไข่ดาวจำได้เลยคือ พี่แนะ พี่แนะจะเป็นคนที่ชอบใช้โทนสีฟ้า คราม ขาว เหลือง อีกคนคือพี่ก้อย ที่ชอบใช้ชมพู แดง เหลือง ซึ่งสองคนนี้จะจัดกลุ่มสีตอนปักได้ดีมาก และอีกคนที่คลาสสิกมากในการใช้สีก็คือ พี่พรรณ พี่พรรณเป็นคนจัดกลุ่มสีสวย พอใส่แล้วจะนวลตา ซึ่งพี่ไข่ดาวคิดว่าไม่ใช่ทุกคนจะมีทักษะนี้ เมื่อสีที่ถูกใช้บวกกับฝีเข็มที่เรียบร้อยของพี่พรรณ งานจึงออกมาค่อนข้างลงตัว ส่วน ป้าเข้ม เป็นอีกคนที่ทำให้ประหลาดใจทุกครั้งที่ปัก คนนี้ใช้สีเลียนแบบธรรมชาติได้ดีคนนึง เป็นคนให้สีที่ละมุน เช่นเดียวกับพี่อู๋ ส่วนสองคนที่พี่ไข่ดาวยกให้เรื่องการใช้สีเลียนแบบธรรมชาติแนววิถีชีวิตได้ดีมาก และสวยมากๆ คือ พี่บวบกับพี่วิสาขา “สองคนนี้พี่ไข่ไม่จำเป็นต้องจัดกลุ่มสีหรือไกด์ไลน์ให้เลย”


ผลงานการจัดกลุ่มสีของป้าเข้ม

การออกแบบลายปักและเลือกสีฝ้ายของพี่วิสาขา


จากมุมมองของพี่ไข่ดาว ทำให้ผู้เขียนเองเห็นถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของพี่ๆ ช่างปักได้มากขึ้น และนึกถึงประเด็นความถนัดด้านการใช้สีของช่างปักแต่ละคนที่น่าสนใจไม่น้อย แต่ยังไม่เห็นถึงภาพที่ชัดเจน ดังนั้นผู้เขียนจึงจะขอลงลึกรายละเอียดกับพี่ๆ เพื่อที่จะได้สัมผัสได้ถึงความเป็นศิลปินไปอีกขั้น


พี่พรรณผู้ละเอียดอ่อนในการเลือดสีฝ้ายปัก


สีเหลืองที่พี่พรรณต้องปัก

"พี่ไม่ชอบสีเหลือง"

พี่พรรณบอกขณะกำลังนั่งปักผ้าสีเหลืองเปลือกมะม่วง โดยใช้สีเหลืองปักเป็นโทนสีนู้ดเรียบๆ มีสีชมพูอ่อนกับสีมะเกลือแซมเพื่อไม่ให้ดูจืดเกินไป พี่พรรณบอกว่าตัวนี้เป็นการจัดคอลเลคชั่นสีฝ้ายปักโดยพี่เหมี่ยว เป็นโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับพี่พรรณ เพราะไม่ชอบสีเหลืองเป็นการส่วนตัว หากแต่เจ้าตัวรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะอยากท้าทายตัวเองเหมือนกันว่าจะปักโดยใช้ฝ้ายเหลืองทั้งตัวออกมายังไง

จุดเด่นของพี่พรรณคือการปักดอกไม้โดยใช้น้อยสี เน้นการจัดวาง และฝีปักที่เป็นระเบียบ


พี่พรรณกับการเลือกฝ้ายปัก

การใช้สีฝ้ายปักของพี่พรรณ


สีฝ้ายที่พี่พรรณเลือกใช้

"พี่จะเลือกใช้สีตามอารมณ์ แบบที่พี่ไม่รู้ตัวเลย ช่วงแรกพี่ใช้แต่สีฟ้ากับสีขาว พอเวลาเปลี่ยนไป ความชอบพี่ก็เปลี่ยนไปด้วย ตอนที่พี่ปักพี่จะรู้สึกว่ามันสวยมาก สวยสุดๆ แต่ตอนที่แม่พี่ป่วยหนัก พี่เลือกใช้แต่โทนแดงเข้ม มะเกลือเข้ม สีเข้มๆ ส่วนช่วงนี้พี่กำลังอินกับสีชมพูและสีขาว" พี่พรรณกล่าว จากการที่ได้เห็นผลงานในแต่ละช่วงอารมณ์ของพี่พรรณ ผู้สัมภาษณ์รู้สึกได้ถึงสิ่งที่พี่พรรณต้องการสื่อสาร โดยใช้สีเป็นตัวกลาง เพราะลายปักส่วนใหญ่ของพี่พรรณ จะเป็นดอกหญ้า และดอกไม้ป่าในภูพาน

ในส่วนของการจัดกลุ่มสีฝ้ายปักกับสีผ้าพื้นหลักๆ ของภูคราม สีคราม มะเกลือ และสีขาว พี่พรรณบอกว่าพี่พรรณมีการจัดกลุ่มสีที่จะใช้ปักสำหรับสีผ้าแต่ละสีของตนไว้เช่นกัน หากแต่สีผ้าพื้นที่พี่พรรณรู้สึกว่าหาสีปักใส่ยาก ต้องใช้เวลาคิดสักพักคือผ้าพื้นสีเหลืองและสีขาว ถ้าใส่สีผิดก็จะเป็นไม่สวยไปเลยทันที โดยพี่พรรณบอกทิ้งท้ายว่า “หลักการใช้สีฝ้ายปักของพี่คือ การใช้สีฝ้ายปักที่ใกล้เคียงกับสีผ้าพื้นให้เยอะที่สุด งานจะออกมามีเสน่ห์และสวยในความรู้สึกของพี่ แต่สีที่พี่บอกคือในช่วงเวลานี้นะ ถ้ามาถามอีกสักเดือนสองเดือนข้างหน้า อาจจะเปลี่ยนโทนสีไปแล้ว "

หลักการง่ายๆ แต่ใช้ได้เลยของพี่พรรณค่อนข้างจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่เริ่มศึกษาการใช้สี มุมมองของพี่พรรณทำให้ผู้สัมภาษณ์สัมผัสได้ว่าผลงานจะสื่อถึงอารมณ์ในช่วงเวลานั้นโดยที่เราไม่รู้ตัว หากใครติดตามผลงานของพี่พรรณมาโดยตลอด คงจะพอรับรู้ถึงช่วงเวลาที่ผ่านมาของช่างปักที่นี่ด้วยเช่นกัน

หลังจากรู้เรื่องการใช้สีฝ้ายปักกับผ้าพื้นไปแล้ว เราจะมาทำความรู้จักกับสองพี่น้องสุดน่ารักประจำภูคราม ที่มีพัฒนาการด้านฝีมือโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นฝีเข็มและการจัดกลุ่มสีอย่างพี่แนะและพี่ก้อย


พี่แนะพี่ก้อยสองพี่น้องนักปัก ปักไปเลี้ยงวัวไป


พื้นที่การออกแบบงานของพี่แนะ


การเลือกใช้โทนสีและออกแบบลายปักของพี่แนะ


“บางครั้งไข่จัดสีให้ พี่ก็ไม่ทำตาม ตอนนั้นไข่บอกว่า ลองไม่ใช้สีขาวดู พี่ไม่มีความสุขเลย ใช้เวลาปักนานกว่าตัวอื่น แล้วพอปักมา ไข่ดาวดันบอกว่าสวยเฉยเลย พี่ชอบจัดสีเองมากกว่า รู้สึกสบายใจกว่า” พี่แนะบอก หลังจากถามว่าระหว่างที่มีไกด์การใช้สีกับจัดสีเองชอบแบบไหนมากกว่ากัน โดยสีที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับงานพี่แนะ คือสีขาว เพราะเจ้าตัวปักแล้วรู้สึกว่าทำให้ผลงานสว่างขึ้น รองลงมาคือสีแดงและสีชมพู


ในขณะที่พี่ก้อย ซึ่งเป็นน้องสาวกล่าวว่า "ชอบงานที่มันไปได้อิสระ ไปได้เรื่อยๆ พี่ไข่ให้พี่คิดได้อิสระ พี่คิดว่าการที่พี่ไข่จัดให้มันก็โอเคนะ เพราะบางทีพี่ก็คิดไม่ออกว่าควรใส่สีไหน แต่สีหลักๆ จะเป็นชมพู แดง ขาว แต่สีที่พี่ไข่จัดให้พี่แบบที่ไม่ชอบก็มีนะ พี่ไม่อยากใส่สีขาว ไม่ชอบเลย ขัดกับความรู้สึกมาก พี่อยากใส่แต่ชมพูกับแดง แต่พอลองปักใส่ก็สวยดีเหมือนกันนะ”


พอจะบอกได้ว่าในเรื่องการไกด์ไลน์สีสองพี่น้องนี้มีความชอบต่างกันเล็กน้อย ปกติภูครามจะมีคอนเซปต์ในแต่ละคอลเลคชั่นต่างกันออกไป พี่ไข่ดาวซึ่งเป็นดีไซเนอร์ร่วมกับพี่เหมี่ยวจะมี Mood and tone ให้ช่างทุกคนในการใช้สี แต่จะให้คิดลายปักได้อย่างอิสระ หากใครคิดงานไม่ออก ภูครามจะช่วยกันออกความคิดเห็นเพื่อให้งานออกมาดีและเหมาะสมกับความถนัดของแต่ละคนที่สุด จุดที่พี่แนะกับพี่ก้อยเหมือนกันเห็นจะเป็นเรื่องของการได้ทำงานที่อิสระและสามารถสร้างสรรค์งานได้ด้วยตัวเอง โดยมองไปที่ความชอบของตัวเองก่อนเป็นหลัก

สิ่งที่ทำให้ผู้สัมภาษณ์เรียนรู้จากการคุยกับพี่พรรณ พี่ก้อย และพี่แนะ คือ การก้าวข้ามคำว่า “ไม่ชอบ” ไป ถึงแม้เจ้าตัวจะพบความยากลำบากหรือไม่ถูกใจขณะสร้างงาน แต่เมื่อเสร็จเป็นผลงานออกมาก็ถือว่าทำได้ดีกันมากเลยทีเดียว ดังนั้นแม้บางครั้งเราติดขัด หรืออาจใช้เวลานานขึ้น แต่ก็ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้หากเราตั้งใจทำ



ผลงานการจับคู่สีของก้อย


หลายคนน่าจะจดจำผลงานของช่างบวบได้ เพราะมีความโดดเด่นในการปักงานสายเล่าเรื่อง วิถีชีวิต โดยจุดเด่นของพี่บวบคือฝีเข็มที่ละเอียด การเล่าเรื่องราววิถีชีวิตในชุมชน และการใช้สีเลียนแบบธรรมชาติที่สะดุดตา ไม่ว่าใครเห็นก็ต้องมองไม่มีเบื่อ


พี่บวบนักเล่าเรื่องวิถีคนภูของภูคราม


บริเวณพื้นที่นาของพี่บวบ


“ในการปักวิถีชีวิต การใช้สีไม่ง่ายเลยนะ เพราะต้องคิดว่าสีไหนใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด ไม่ใช่ว่าจะใส่สีอะไรก็ได้ แต่เป็นเรื่องของความคิดและเรื่องที่จะเล่าเป็นเรื่องง่ายสำหรับพี่ แล้วไม่ใช่ว่าเลียนแบบธรรมชาติอย่างเดียวนะ ต้องทำให้สิ่งที่เราต้องการสื่อเด่นด้วย เพื่อให้คนสะดุดตาและน่ามอง”


ผลงานการออกแบบลายปักและเลือกใช้สีของพี่บวบ


ประเด็นที่พี่บวบบอกนั้นถือว่าน่าสนใจไม่น้อย เพราะเป็นมุมมองที่ผู้สัมภาษณ์เองก็ไม่เคยรู้มาจากช่างปักคนอื่นๆ เรื่องความยากของการใช้สี โดยเฉพาะพี่บวบที่ทำผลงานชิ้นพิเศษออกมาทุกรอบ

“สีที่น้องๆ ภูครามทำขึ้นมาแต่ละรอบ พี่จะดูโทนสีก่อนว่ามันเป็นโทนสีฤดูกาลไหน เช่นตอนนี้มีโทนสีฤดูใบไม้ร่วง พี่บวบก็จะเล่าเรื่องฤดูไบไม้ร่วงของป่าโคกบ้านเรา เพื่อให้ใกล้เคียงกับสีจริงที่สุด ส่วนโทนสีฝนยังไม่ตก คือโทนเทาดำ เศร้าๆ ฤดูฝนต้องสดใส มีสีเขียว ฤดูหนาวต้องโทนอ่อน สีเย็น”

หลักการใช้สีของพี่บวบบ่งบอกได้ถึงความเป็นตัวตนได้ชัดเจน โดยก่อนปักงานทุกครั้งพี่บวบจะมีการจำแนกสีก่อนปักว่า สีโทนไหนใช้ปักอะไร เพื่อประกอบการดีไซน์ ถือว่าเป็นการทำงานที่ค่อนข้างแตกต่างพอสมควร หากแต่เป็นตัวอย่างของการสร้างสรรค์ที่ดีเลยทีเดียว

“ถ้าไม่มีสีที่ใกล้เคียงกับที่พี่จะปัก พี่ก็จะไม่ปัก เพราะอยากให้ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด” พี่บวบกล่าว แสดงให้เห็นถึงไอเดียที่ต้องการเล่าเรื่องจากความจริง โดยสีเองก็เป็นส่วนสำคัญของการเล่าเรื่องที่เป็นจริง เพราะผู้คนจะได้สัมผัสถึงภาพของจริงที่ช่างปักต้องการที่จะให้เราเห็น


พื้นที่ป่าภูพาน


การใช้สีไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องสอดคล้องกับสิ่งที่ช่างปักแต่ละคนต้องการจะสื่อ โดยเน้นความชอบของแต่ละคนเป็นหลัก ซึ่งจากการพูดคุยและลงลึกกับพี่ๆ ช่างปัก ทำให้ทราบถึงหลักการการใช้สีของแต่ละคน โดยส่วนใหญ่เน้นไปที่ความชอบก่อน แล้วตามด้วยสีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ประกอบกับการจัดวางและลายปัก เมื่อรวมกันจึงจะเป็นผลงานที่สวยที่สุดสำหรับทุกคน ช่างปักหลายคนแสดงให้เห็นถึงการก้าวข้ามขีดจำกัดของตนเองโดยการลองใช้สีที่ไม่ชอบ และทำออกมาได้ดี อีกทั้งการมีไกด์ไลน์งานก็มีทั้งจจุดอ่อนและจุดแข็ง และแต่ละคนก็มีวิธีการดีไซน์งานที่แตกต่างกัน แต่เพราะคำว่าศิลปะไม่มีคำว่าถูกผิดจุดสำคัญของทุกคนคือการสื่อสารและจังหวะของชีวิตที่เล่าออกมาผ่านโทนสีที่ใช้และลายปักที่ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานที่สวยงามให้ทุกคนได้ชม

หลังได้พูดคุยกับช่างปักผู้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นพิเศษของภูครามหลายคน ผู้สัมภาษณ์รับรู้ได้ถึงเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังผลงานเหล่านั้นลึกซึ้งขึ้น ช่างแต่ละคนจะได้รับการฝึกฝนผ่านโจทย์งานต่างๆ ที่ได้รับชิ้นแล้วชิ้นเล่า ซึ่งการให้โจทย์งานของภูครามนั้น เท่าที่เคยสัมผัสมาจะสังเกตได้ว่า จะไม่ติดอยู่กับแพทเทิร์น ไม่มีการเขียนแบบให้ ช่างต้องพัฒนาตัวเองจากการลองผิดลองถูกและค่อยๆ ดึงศักยภาพของตัวเองออกมา การจะปักงานออกมาให้สวยมากๆ สำหรับสายตาผู้คนภายนอก ช่างปักแต่ละคนย่อมต้องผ่านจุดที่รู้สึกว่ายากมากๆ มาก่อน กว่าจะเรียนรู้และหาจุดเด่นของตนเองเจอ


ธัญญลักษณ์ ทองปลิว

ผู้เขียน


รติกร ตงศิริ

Editor

ดู 263 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page