top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนธิรารัตน์ พุทธวงศ์

เจน แม่มดน้อยของภูคราม

อัปเดตเมื่อ 10 ก.พ. 2565



"แม่มดแห่งบ้านภูคราม"


สีสันของภูครามที่หลายคนเห็นผ่านผ้าทอและฝ้ายปัก เป็นสีสันจากธรรมชาติที่เราตั้งใจอยากจะนำเสนอ ฝ้ายปักถูกเนรมิตขึ้นโดยช่างย้อมของทีมภูครามและหนึ่งในทีมช่างย้อมภูครามคือ "เจน" นักเล่นแร่แปรธาตุหน้าใหม่ที่นิยามตัวเองว่า "ฉันเป็นแม่มดแห่งบ้านภูคราม"

เจน เป็นสมาชิกรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานกับภูครามได้ไม่นานและได้ทดลองทำงานในหลากหลายบทบาทตั้งแต่เป็นผู้ช่วยวัดผ้า ถ่ายรูปเสื้อผ้า เตรียมวัตถุดิบในกระบวนการทำงานของภูครามทั้งหมด ก่อนจะมาลงเอยที่ตำแหน่ง ‘ช่างย้อม’ ประจำบ้านภูคราม


เจนเริ่มเล่าความทรงจำที่มีต่อภูครามให้เราฟังทีละนิด น้ำเสียงแสนเบาบาง แต่ฟังแล้วรู้สึกว่าเขากำลังอินกับงานที่ทำอยู่มากๆ


“เท่าที่ทดลองทำงานกับภูครามมา เจนชอบเรื่องการย้อมผ้าที่สุด รู้สึกว่าไม่ค่อยเบื่อดี เริ่มเรียนย้อมครั้งแรกก็มีแม่ของพี่เหมี่ยวเป็นคนสอน โดยเริ่มจากย้อมครามก่อนเป็นอันดับแรก แม่เรียกเจนไปช่วยย้อมเลยลองย้อมดู ช่วงแรกรู้สึกสงสัยว่าสีมันติดได้ยังไง ทำไมต้องย้อมในหม้อแล้วเอาขึ้นมาโดนอากาศ แล้วก็เอาลงไปย้อมอีกในหม้อเดิม พอลองทำมันก็เข้มขึ้นเรื่อยๆ จนเราได้รู้สึกว่ามันพิเศษดี ระหว่างที่ทำแม่ไม่ได้อธิบายอะไรมากให้ลองทำและเราก็ลองศึกษาดู​”




"แต่ละคนก็มีสูตรของใครของมัน"


จากนั้นก็ได้ลองไปย้อมสีมะเกลือ ซึ่งถือเป็นการทดลองที่เราได้ทำมันเองทุกกระบวนการจริงๆ ช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่ทุกคนได้ทดลองทำสีมะเกลือ ดูว่าทำยังไงถึงจะย้อมเป็นสีดำ เช่น ทดลองจากมะเกลือแห้งที่เก็บจากที่มันร่วง เปรียบเทียบกับการทดลองใช้ผลดิบ เราก็เรียนรู้กับมันอยู่สักพักใหญ่จนรู้ว่ามันชอบแดด ชอบความร้อน ชอบอากาศ แล้วมะเกลือแต่ละแบบให้สีที่ต่างกัน เช่น มะเกลือแบบแห้งมันจะให้สีน้ำตาลอ่อนออกแดงๆ ส่วนมะเกลือสดให้สีออกดำๆ ดำเทา ดำเข้ม แต่ละคนก็มีสูตรของใครของมัน


“ตอนนั้นเจนไปลองย้อมสีมะเกลือที่นา ทดลองใช้น้ำในสระที่นาย้อมสี เปรียบเทียบกับน้ำที่บ้านพบว่ามันให้สีไม่เหมือนกันเลย น้ำในสระที่นาจะทำให้ผ้าดำเร็วมากและให้สีสวยมาก ย้อมติดง่ายกว่าน้ำที่บ้านที่ต้องย้อมไปประมาณ 4-5 ครั้งถึงจะเห็นว่าสีมันเข้มขึ้น จนทำให้ช่วงนั้นป้าๆ หลายคน แห่ไปเอาน้ำที่นามาย้อมสีมะเกลือกัน” เจนหัวเราะ




"มันมีรายละเอียดที่เราต้องคอยดูคอยเฝ้าตลอดการย้อม เราจะเฝ้าดูจนกว่าเราจะเห็นสีที่ต้องการ"

แต่ก่อนเจนย้อมฝ้ายที่ทอด้วย แล้วก็ทำอย่างอื่นไปด้วย ก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรกันแน่ จนตอนนี้พี่เหมี่ยวให้เจนมาย้อมสีฝ้ายปักโดยลองทำเองแบบเต็มตัว ก็เลยลองมาย้อมดู ลองทำไปเรื่อยๆ ก็รู้ว่าเราชอบที่จะอยู่ตรงนี้มากกว่างานอื่น ตื่นเต้นกับการที่เราได้ปรุงหม้อ ทดลองแปลงสีที่อยู่เพียงแค่ในความคิดความทรงจำให้ออกมาเป็นของจริงให้ได้ ถ้ามันยังไม่ได้สีที่เราคาดหวังก็จะรู้สึกเสียใจนิดนึง แต่พอย้อมได้ก็จะรู้สึกดี รู้สึกพิเศษ มันได้สิ่งที่เราต้องการแล้ว


หลังๆ เราก็ค้นพบว่ามันมีตัวแปรหลายอย่างที่ทำให้สีมันไม่ตรงกันทุกรอบ เช่น น้ำที่ใช้ต้ม เปลือกไม้ที่เราเอามาต้มยิ่งต้มไปนานๆ สีมันก็จะจืดไปเรื่อยๆ ถ้าหากว่าเราอยากได้สีเข้มๆ มันจะได้จากการต้มน้ำในรอบแรกซึ่งมันจะให้สีสด แต่ถ้าหากเราต้องการสีที่อ่อนลงมา เราก็เอาน้ำสองที่อยู่ในถังมาต้มมันก็จะอ่อนลงมาอีก เป็นต้น




มันมีรายละเอียดที่เราต้องคอยดูคอยเฝ้าตลอดการย้อม เราจะเฝ้าดูจนกว่าเราจะเห็นสีที่ต้องการ ที่ทำแบบนี้เป็นเพราะว่า มีครั้งหนึ่งเจนต้มสีเขียว คือเอาฝ้ายที่ได้จากย้อมครามแล้วเอามาต้มสีเหลืองจากเปลือกไม้ เพื่อให้ได้สีเขียว วันนั้นเราย้อมครามได้สีสวยมาก เราก็เลยคิดว่าเราจะเอามาย้อมสีเขียวให้สวยที่สุด ระหว่างที่เราต้มได้สองชั่วโมงเราก็ได้สีสวยตามที่เราต้องการแล้ว เจนเอาฟืนออกจากเตาย้อม แต่ยังพักฝ้ายไว้อยู่ในหม้อเหมือนเดิมแล้วเราก็เดินไปทำอย่างอื่น ระหว่างนั้นเจนไม่รู้ว่ามีใครมาก่อไฟต้มต่อ เลยทำให้จากสีเขียวที่เราชอบเราพอใจแล้วกลายเป็นสีเขียวเข้มออกตุ่นๆ ไปเลย เพี้ยนไปจากที่เราคาดหวังไว้ รู้สึกเสียใจมาก เราก็เลยได้บทเรียนจากเหตุการณ์นี้ว่า ต่อไปเราจะไม่ทิ้งมันไว้อีกแล้ว เราจะยืนเฝ้ามันจนเสร็จ





ระหว่างที่ย้อมก็มีการจดบันทึกบ้าง จริงๆ ตั้งใจอยากจดบันทึกขั้นตอนการทำแบบละเอียด แต่พอได้มาทำจริงๆ แล้วมันไม่มีเวลาจด เจนก็เลยใช้วิธีเก็บสีที่ย้อมได้มาเก็บในแฟ้ม แล้วค่อยบันทึกว่าสีที่ย้อมได้มาจากอะไรบ้าง เพราะขั้นตอนการทำมันคล้ายๆ กัน


ตอนนี้ภูครามมีเฉดสีของฝ้ายปักน่าจะเกินร้อยเฉดนะ เพราะบางทีการย้อมแต่ละครั้งมันได้เฉดที่หลากหลาย แล้วนอกจากการย้อม เรายังไปเล่นกับวัตถุดิบที่ใช้ในการฟิกซ์สีด้วย เพราะเราชอบเล่น ชอบทดลองต่อยอด เช่น พอเราต้มสีฝ้ายเสร็จเราก็จะเอาไปลองฟิกซ์สีอีกที ถ้าเราเอาไปใส่น้ำปูนใสสีมันก็จะสดจะเข้มขึ้น แต่ถ้าเราเอาไปฟิกซ์ด้วยน้ำสารส้มมันก็จะเป็นสีใสสว่างขึ้น





"เหมือนตัวเองเป็นแม่มดเลย เรามีหม้อย้อมเป็นของตัวเอง เหมือนได้ปรุงยาวิเศษเลย "


ที่นี่เราได้รับอิสระในการลองย้อมลองเล่น ได้ทดลองเองหมด แต่ก็มีบางครั้งแม่ก็จะเดินมาช่วยดู ช่วยบอกบ้าง หรือบางทีถ้าเราไม่ได้สีที่เราต้องการเราก็จะเดินไปถามไปปรึกษาแม่บ้างว่าเราควรทำยังไง


ตอนนี้สนุกกับการย้อมค่ะ เพราะเหมือนตัวเองเป็นแม่มดเลย เรามีหม้อย้อมเป็นของตัวเอง เหมือนได้ปรุงยาวิเศษเลย


สิ่งที่สำคัญสำหรับการย้อมสีฝ้าย คือ เราจะต้องย้อมให้สีมันติดทน ไม่ใช่แค่ย้อมได้สีแล้วจบ เราจะต้องดูไปจนถึงช่วงเวลาใช้งาน เช่น หากช่างปักเอาไปปัก สีฝ้ายเรายังเหมือนเดิมไหม ติดทนไหม หรือซีดลงกว่าเดิมหรือไม่ ซึ่งเราจะเช็คระหว่างที่ย้อมก่อนโดยการเอาไปล้างแล้วลองทุบ ลองซักดูอีกครั้งว่าสียังติดเหมือนเดิมรึป่าว

เท่าที่ย้อมตอนนี้สีจากพวกเปลือกไม้จะไม่ค่อยจางไปเท่าไหร่ แต่ที่จะจางไปไม่ค่อยติดผ้าจะเป็นพวกสีเหลืองจากเปลือกมะม่วง และสีจากต้นเข จริงๆ เจนกำลังทดลองเหมือนกันว่าสีจากต้นเขมันซีดง่ายไหม พี่ๆ ช่างปักคนอื่นๆ บอกว่าสีเหลืองมันซีดง่าย เจนเลยเอาเปลือกเข กับ ใบมะม่วงมาทดลองย้อมด้วยกัน


เป้าหมายตอนนี้เจนกำลังพัฒนาสีใหม่ๆ ที่ภูครามยังไม่มี ลองทดลองผสมสีนู่นนี่ มันก็ได้สีแปลกใหม่ขึ้นมาบ้าง เราก็จดบันทึกไว้ บางทีก็ดูว่ามันคล้ายหรือใกล้เคียงสีอะไร เทียบกับประสบการณ์การเห็นสีจากธรรมชาติที่ผ่านมา




เจนจะตื่นเต้นทุกครั้งที่เวลาช่างปักมาแล้วเขาได้สีใหม่ๆ เขาจะบอกว่า เฮ้ย สีนี้ไม่เคยมีเลย เราก็จะรู้สึกดีใจ แล้วก็จะแอบดูว่าเขาเอาสีที่เราย้อมไปปักอะไรบ้าง พอเห็นว่าเขาได้เล่นกับฝ้ายปักที่เราย้อมเรายิ่งอยากทดลองทำสีใหม่ๆ อีก ให้เขาได้เอาไปเล่นกับดอกไม้ที่ปัก แล้วตอนนี้เจนก็เริ่มมอง เริ่มสังเกตดอกไม้บนภูพานที่พี่เหมี่ยวพาไปดูว่าสีอะไรที่เรามองเห็นจากธรรมชาติ แล้วเรายังไม่มีไม่เคยย้อมบ้าง เจนก็พยายามย้อมให้มันได้สีเหล่านั้นออกมาจริงๆ



ตอนนี้ยังอินกับการย้อมฝ้ายมากๆ เพราะรู้สึกว่าตัวเองยังไปไม่สุด ยังอยากทดลอง อยากย้อมไปเรื่อยๆ รู้สึกว่ายังต้องเรียนรู้อีกเยอะเลย


"เรารักษา สืบต่อ และตอนนี้กำลังต่อยอดด้วยคนรุ่นใหม่"

ห้องเรียนภูคราม

Bhukram ภูคราม
























ดู 448 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page